มูลนิธิตะวันฉายฯ ได้รับรางวัลพระธาตุพนมทองคำ ประเภทนิติบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร
คำประกาศเกียรติคุณ
มูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง คือ 1) ช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ที่ยากไร้เพื่อเข้ารับการรักษา 2) สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในการช่วยเหลือตนเองและครอบครัวผู้ป่วยและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพ 3) สนับสนุนการค้นคว้าและการวิจัยเพื่อการป้องกันปากแหว่งเพดานโหว่ฯ และการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล 4) สนับสนุนด้านการเรียนการสอน การวิจัย และพัฒนาการบริการวิชาการอันเป็นประโยชน์ของศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 5) ดำเนินหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ ด้านสาธารณประโยชน์ โดยดำเนินงานภายใต้รูปแบบ “การดูแลที่สมบูรณ์แบบ” (Comprehensive Care) ใช้กรอบขององค์การอนามัยโลก WHO 2010 ในการดูแลผู้ป่วยให้ครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา การดำรงชีวิต สังคม และการสร้างเสริมพลังอำนาจ โดยการทำงานร่วมกันของทีมสหวิทยาการจากหลายสาขาวิชาชีพของคณะแพทยศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนได้รับคำตรัสชมจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ.2553 ว่า“ขอชื่นชมว่าการดูแลของศูนย์ตะวันฉายมีการดูแลที่ Comprehensive ดีมาก”
ผลจากการดำเนินงานที่ครอบคลุมและการทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นระบบ ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมซึ่งเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงการดูแลรักษาให้กับผู้ป่วย อาทิ เช่น ระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยฯ ที่เป็นปัจจุบัน ระบบการติดตามค้นหาผู้ป่วย เป็นต้น โดยการพัฒนาเหล่านี้ดำเนินงานควบคู่ไปกับงานของศูนย์วิจัยฯ ซึ่งมีการทำวิจัยเชิงระบาดวิทยา การศึกษาปัจจัยการเกิดโรค การป้องกัน และการวิจัยแนวทางการดูแลที่ดี เป็นการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ให้มีความยั่งยืน ที่มีการดำเนินงานควบคู่ไปกับการให้ทุนแก่บุคลากรในทีมสหวิทยาการและแพทย์ประจำบ้านเพื่อทำวิจัยและศึกษาดูงานในต่างประเทศ ต่อยอดความเข้มแข็งให้กับทีมสหวิทยาการ จนสามารถสร้างโปรโตคอลการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ อันเป็นที่ยอมรับและมีการนำไปใช้ในองค์กรระดับชาติ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย และเป็นต้นแบบในการเผยแพร่ความรู้ให้กับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่น ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม โดยมีองค์กรระดับนานาชาติ เช่น Smile Train ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Transforming Faces ประเทศแคนาดา ให้การยอมรับและชื่นชม
มูลนิธิตะวันฉายฯ ยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ จึงมีการดำเนินงานเชิงรุก โดยการติดตามผู้ป่วยในช่วงวัยสำคัญถึงพื้นที่บ้านและโรงเรียนเพื่อรับรู้ปัญหาที่แท้จริงอยู่เสมอ มีการให้ทุนการศึกษา จัดค่ายพัฒนาทักษะ ตลอดจนมอบโอกาสในการทำงานให้กับผู้ป่วยที่สำเร็จการศึกษา เช่น เปิดให้ทำงานในศูนย์ตะวันฉายฯ และสร้างโอกาสให้ทำงานในองค์กรอื่น, การสร้างศูนย์เรียนรู้เกษตรแก้จนและการแนะแนววิชาชีพ, และการให้ทุนประกอบอาชีพ ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ศูนย์มีชัยพัฒนา บริษัท CP All เป็นต้น จนถึงวันนี้ มีผู้ป่วยและครอบครัวจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และเป็นผู้ให้และตอบแทนแก่สังคมด้วย ดังหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ ๙ ที่มูลนิธิตะวันฉายฯ ได้น้อมนำเป็นเข็มทิศในการดำเนินงานตามรอยพระบาทเสมอมา
ด้วยการดำเนินงานอย่างไม่ย่อท้อและไม่หวังผลตอบแทนใด มูลนิธิตะวันฉายฯ จึงประสบความสำเร็จในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ เป็นผลอันประจักษ์ชัด และสร้างความปลื้มปีติให้กับทีมสหวิทยาการของมูลนิธิตะวันฉายฯ เป็นอย่างยิ่ง มูลนิธิตะวันฉายฯ จักรักษาความดีงามนี้ไว้ และมุ่งมั่นสร้างคุณูปการต่อสังคมอย่างยั่งยืนสืบไป