มูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า และศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า (ศูนย์ตะวันฉาย) ร่วมกับ โรงพยาบาลแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้จัด โครงการตะวันฉายปันรอยยิ้ม เพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการอื่นๆ ครั้งที่ 2” ขึ้นระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2566 ณ โรงพยาบาลแขวงคำม่วน เมืองท่าแขก สปป.ลาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนทรัพย์จากมูลนิธิตะวันฉายฯ และองค์กร Smile Train ในการช่วยเหลือการดูแล รักษา ผ่าตัด และฟื้นฟูสภาพโดยการฝึกพูด แบบสหวิทยาการ โดยทีมสหวิทยาการจากศูนย์ตะวันฉาย และเครือข่ายศัลยแพทย์ตกแต่งจากโรงพยาบาลขอนแก่นและโรงพยาบาลนครพนม สืบเนื่องจากครั้งที่ 1 ขึ้นเมื่อวันที่ 23-25 เมษายน 2566 ซึ่งได้ให้การผ่าตัดรักษาซ่อมแซมภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ไป จำนวน 32 ราย และยังคงเหลือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกจำนวน 17 ราย ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือผ่าตัดรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยรักษาผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการอื่นๆ เสริมสร้างศักยภาพในการดูแลรักษา ผ่าตัดและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ให้กับทีมสหสาขาวิชาชีพ และฝึกพูดแก่ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ได้รับการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ณ โรงพยาบาลแขวงคำม่วน สปป.ลาว
โดยได้รับเกียรติจาก ท่าน ดร.แก้วอุดม ลอดทำมะวง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแขวงคำม่วนให้การต้อนรับในวันแรก
ดร.แสงทอง เสิมสำวัน รองหัวหน้าสาธารณสุขจังหวัดแขวงคำม่วน กล่าวเปิดงาน
ดร.คำไต พมมะวัน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแขวงคำม่วน ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ
ผศ.พญ.ปัทมา ปัญญาวงศ์ อาจารย์ศัลยแพทย์ตกแต่ง ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ เป็นประธานดำเนินโครงการ
นางสุธีรา ประดับวงษ์ พยาบาลเชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาศูนย์ตะวันฉาย และกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ ผู้กล่าวรายงาน
ทีมตะวันฉายและโรงพยาบาลแขวงคำม่วน ได้มีการตรวจประเมินความพร้อมในการผ่าตัดผู้ป่วยร่วมกัน มีการประชุมและเตรียมตารางการผ่าตัดในวันถัดไป และก่อนการผ่าตัดรักษา ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น ผศ.พญ.ปัทมา ปัญญาวงศ์ ได้มีการสอนแสดงการผ่าตัดให้กับศัลยแพทย์โรงพยาบาลคำม่วน จำนวน 3 ราย รวมทั้งศัลยแพทย์ท่านอื่นๆ ให้การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยจนครบจำนวน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดมยาสลบ การส่งเครื่องมือผ่าตัด และการพยาบาลก่อนและหลังผ่าตัดร่วมกับทีมพยาบาลที่หอผู้ป่วย และยังได้มีการฝึกพูด การดูแลด้านพัฒนาการร่วมกับกุมารแพทย์ของรพ.แขวงคำม่วนด้วย
ในการดำเนินโครงการ มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดรักษาอย่างปลอดภัยจำนวน 10 ราย รวมทั้งมีผู้ป่วยเข้ารับการฝึกพูด จำนวน 21 ราย เป็นผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ 5 ราย ผู้ป่วยพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้า จำนวน 16 ราย ผู้ป่วยทุกรายได้รับค่าเดินทางช่วยเหลือจากมูลนิธิตะวันฉายฯ และกระเป๋า Gift set จากองค์กร Smile Train
ขอขอบคุณ ทีมงานและผู้สนับสนุนทุกท่านในการดำเนิน โครงการตะวันฉายปันรอยยิ้ม ครั้งที่ 2/2566 นี้ ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัว ได้รับการดูแล รักษา ผ่าตัด และฟื้นฟูสภาพโดยการฝึกพูด มีความปลอดภัยทุกราย มีรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น