สปสช. จัดประชุมคณะทำงานดูแลผู้ป่วย “ปากแหว่ง เพดานโหว่” ต่อเนื่อง เผยปี 58 – 62 มีผู้ป่วยทั่วประเทศได้รับการผ่าตัดรักษาภายใต้สิทธิบัตรทองแล้ว 3,328 ราย
ในการประชุมคณะทำงานโครงการพัฒนาการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีการดูแลรักษาฟื้นฟูทางการแก้ไขการพูด ทันตกรรมจัดฟัน และผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์
โดย พญ.เรณู ศรีสมิต เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่จากหน่วยบริการทั่วประเทศเข้าร่วม จัดโดยสำนักบริหารการจัดสรรและชดเชยค่าบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
พญ.เรณู กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กแรกเกิด เพื่อให้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ซึ่งการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ในระบบบัตรทองเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิตะวันฉายและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง และผ่านโครงการยิ้มสวย เสียงใสฯ โดยสภากาชาดไทย
ทั้งนี้ อัตราเด็กแรกเกิดในระบบบัตรทองปี 2553 มีจำนวน 595,378 คน มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่จำนวน 1,373 คน โดยตั้งแต่ปี 2559 จำนวนเด็กแรกเกิดที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ลดลงต่ำกว่า 1,200 ราย เป็นผลมาจากจำนวนเด็กแรกเกิดที่ลดลง โดยปี 2561 มีเด็กแรกเกิดในระบบบัตรทองจำนวน 516,326 คน มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่จำนวน 1,092 คน ซึ่งเด็กแรกเกิดที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ตั้งแต่ปี 2558-2562 (ข้อมูล ณ 28 ก.พ. 62) ได้รับการผ่าตัดในปีแรกเกิดภายใต้สิทธิบัตรทอง จำนวน 3,328 ราย
นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยปากเหว่ เพดานโหว่ที่เข้าถึงบริการจัดฟันและฝึกพูดอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของบริการจัดฟันตั้งแต่ปี 2555-2562 (ข้อมูล ณ 28 ก.พ. 62) มีผู้ป่วยรับบริการสะสมจำนวน 3,099 ราย ขณะที่บริการฝึกพูด ปี 2555-2562 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการสะสมจำนวน 6,185 ราย
นพ.การุณย์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในส่วนของการผ่าตัดไม่เป็นปัญหา แต่ในส่วนของการฝึกพูดยังมีปัญหาอยู่มาก ทำอย่างไรให้เกิดการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม นอกจากจำนวนนักฝึกพูดที่จำกัดแล้ว ยังอาจมีปัญหาอื่นที่ส่งผลต่อการฝึกพูด ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีการประเมินผลบริการฝึกพูด ต่อไปอาจต้องเพิ่มเติมในส่วนนี้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรค ส่วนปัญหาขาดแคลนนักฝึกพูด คงดูความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีสื่อสารต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดการเข้าถึงเพิ่มมากขึ้น โดย สปสช.อาจต้องปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สอดคล้อง เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงบริการที่ดี
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของการเจริญของใบหน้าระหว่างการตั้งครรภ์ ควรได้รับการรักษาแก้ไขแรกเริ่มตั้งแต่อายุ 3 เดือน ไม่ควรอายุเกิน 3 ปี และต้องได้รับรักษาผ่าตัดต่อเนื่องตามเกณฑ์อายุ เพื่อแก้ไขและลดความพิการให้กลับเป็นปกติได้ ในอดีตผู้ป่วยเหล่านี้มีปัญหาการเข้าถึงการรักษา แต่ด้วยความร่วมมือของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสนับสนุนโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย
ข้อมูลข่าวจาก Workpointtoday.com
กองทุนบัตรทอง 5 ปี รักษาปากแหว่งเพดานโหว่กว่า 3 พันราย