มูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการดูแลผู้ป่วยที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive Care) 5 ด้าน ได้แก่ด้าน สุขภาพ (Health) การศึกษา (Education) การดำรงชีวิต (Livelihood) สังคม (Social) และการเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) เพื่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainable) ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมและมีคุณค่า ตอบแทนสู่สังคมได้ ซึ่งยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังไม่เข้าถึงการบริการ ที่เป็น Comprehensive care และยังไม่สามารถติดตามการดูแลรักษา และรับการรักษาตามแนวทางของแต่ละช่วงอายุ ทำให้ไม่สามารถประเมินผลการรักษาทั้งในวัยผู้ใหญ่และตามช่วงอายุที่สำคัญได้อย่างครบถ้วน
มูลนิธิตะวันฉายฯ จึงได้จัดโครงการ “Comprehensive Care และเยี่ยมติดตามผู้ป่วยของมูลนิธิตะวันฉายฯ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร” ในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน 2564 โดย ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ เคยได้เข้าร่วมโครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทายาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการของรัชกาลที่ ๙ เริ่มตั้งแต่ปี 2531-2547 ในการผ่าตัดรักษาคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ รวมถึงความพิการอื่นๆ จำนวนมากที่จังหวัดสกลนคร
โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อติดตามเยี่ยมครอบครัวผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ กับสถานพยาบาล สถานศึกษา ชุมชน และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive Care) โดยมีกิจกรรม ดังนี้
วันที่ 14 กันยายน 2564 ประธานมูลนิธิตะวันฉายและทีมงาน ได้เดินทางไปที่ โรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน เพื่อติดตามเยี่ยมเด็กที่มีภาวะปากแหว่ง จำนวน 2 ราย ซึ่งทางประธานคณะกรรมการสถานศึกษา ได้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราขทานความช่วยเหลือเรื่องการผ่าตัดตกแต่งริมฝีปากให้แก่นักเรียน ซึ่งความทรงทราบฝ่าละอองพระบาทแล้ว จึงได้มีพระราชกระแสให้ส่งตัวมารักษาที่ศูนย์ตะวันฉาย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทางมูลนิธิตะวันฉายฯ จึงได้ติดตามเข้าเยี่ยมและพูดคุยกับครอบครัวของเด็กนักเรียนที่มีภาวะปากแหว่ง และเยี่ยมชมโรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี ซึ่งได้รับการต้อนรับจาก อาจารย์ธนิก เหลาแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณาจารย์ เป็นอย่างดี ทั้งนี้ มูลนิธิตะวันฉายฯ ยังได้มอบทุนการศึกษา ให้กับครอบครัวผู้ป่วย ครอบครัวละ 2,000 บาท
ต่อมาในช่วงบ่าย ได้เข้าเยี่ยมโรงพยาบาลสกลนคร โดยมี นพ.ศิรยุสม์ วรามิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านแพทยศาสตร์ศึกษา หัวหน้ากลุ่มภารกิจผลิตบุคลากรทางการแพทย์ และแพทย์หญิงนัดดา แก้วคำแสน ศัลยแพทย์ตกแต่ง (ศิษย์เก่าศัลยแพทย์ตกแต่งรุ่นที่1 ม.ขอนแก่น) ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็น “การดูแลผู้ป่วยแบบ Comprehensive Care” ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
กิจกรรมวันที่ 15 กันยายน 2564 ได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านและครอบครัวผู้ป่วย ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดในโครงการศัลยแพทย์อาสาฯ และเป็นคนไข้ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิตะวันฉายฯ จำนวน 3 ราย ที่อยู่ใน อ.เมืองสกลนคร อ.พรรณานิคม และ อ.วานรนิวาส ซึ่งคนไข้ยังอยู่ในระหว่างการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มูลนิธิตะวันฉายฯ ยังได้มอบทุนการศึกษา และทุนประกอบอาชีพ ให้กับครอบครัวผู้ป่วย ครอบครัวละ 2,000 บาท
นอกจากนี้ ยังได้มีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่าย ในแหล่งชุมชน คือ ศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จ.สกลนคร และเยี่ยมชมสถานศึกษา วิทยาลัยนาหว้า อ.นาหว้า จ.สกลนคร
การจัดโครงการในครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมที่บรรลุวัตถุประสงค์ของมูลนิธิตะวันฉายฯ ในการดูแลผผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive Care) 5 ด้าน เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน เกิดความยั่งยืน (Sustainable) ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมและมีคุณค่า และสามารถสร้างประโยชน์ตอบแทนคืนสู่สังคมได้