บทบาทของนักเวชศาสตร์สื่อความหมาย หรือนักแก้ไขการพูด มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ซึ่งปัญหาทางภาษาและการพูดในผู้ที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ พบได้มากถึง ร้อยละ 90 แต่ในปัจจุบันผู้ที่มีภาวะเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการแก้ไขการพูดอย่างครบถ้วน เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรนักแก้ไขการพูด โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ คลินิกฝึกพูดที่เป็นศูนย์บริการด้านการแก้ไขปัญหาเหล่านี้มีเพียงแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนนักแก้ไขการพูด ในปี พ.ศ. 2552 จึงได้มีการขออนุมัติตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว (โครงการ) ตำแหน่งนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย (แก้ไขการพูด) ระดับปฏิบัติการเป็นเวลา 2 ปี จำนวน 2 อัตรา ซึ่งได้รับการอนุมัติให้มีการจัดจ้างโดยงบประมาณจากคณะแพทยศาสตร์ 1 ตำแหน่ง คือ นางสาวชลดา สีพั้วฮาม และงบประมาณจาก Transformimg Faces Worldwild INC (TFW) 1 ตำแหน่ง คือ นางสาวเพชรัตน์ ใจยงค์ เพื่อทำการฝึกพูดให้กับ ผู้ที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ภายใต้การกำกับดูแลของ รศ.ดร.เบญจมาศ พระธานี นักแก้ไขการพูด สังกัดภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนี้ อัตราค่าตอบแทนการจัดจ้างโดยงบประมาณจากคณะแพทยศาสตร์ และ Transformimg Faces Worldwild INC (TFW) ต่ำกว่าอัตราลูกจ้างชั่วคราวโรงพยาบาลของรัฐบาลในภูมิภาคเดียวกัน ดังนั้น มูลนิธิตะวันฉายฯ จึงเห็นสมควรจัดโครงการสาธารณกุศลเพื่อการฝึกพูดผู้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ฯ เพื่อเป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนแก่นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย ทั้ง 2 ตำแหน่ง ในการร่วมเป็นทีมสหวิทยาการในสาขาการแก้ไขการพูดและเพื่อเป็นการตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และนโยบายการดำเนินงานของมูลนิธิตะวันฉายฯ แบบยั่งยืน
โดยบทบาทการดำเนินงานของนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย หรือนักแก้ไขการพูดของทั้งสองตำแหน่ง มีภาระงานหลักคือการแก้ไขและฟื้นฟูผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ในด้านต่างๆ ดังนี้
- การตรวจคัดกรองฯ ผู้ป่วยใหม่
- การตรวจวินิจฉัยปัญหาทางภาษาและการพูด เช่น ออกเสียงพูดไม่ชัด การพัฒนาการทางภาษา เช่น การพูดล่าช้า
- การบำบัด แก้ไขและฟื้นฟู ของการออกเสียงพูดไม่ชัด และกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้า
- การให้คำแนะนำและความรู้ฯ
- การส่งต่อผู้ป่วย
- การจัดทำบันทึกโดยย่อการให้การแก้ไข/ฟื้นฟูผู้ป่วยรายคน
- การตั้งประเด็นปัญหา/ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไข/ฟื้นฟูต่อไป
นอกจากบทบาทของภาระงานหลักแล้วยังมีบทบาทภาระงานเชิงวิชาการในด้านต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมการออกเยี่ยมชุมชน บริการวิชาการ และการประชุมเชิงวิชาการ รวมถึงการปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดทำรายงานต่างๆ และการจัดเตรียมอุปกรณ์การฝึกพูด