ภายหลังจากที่ได้มีการจัดกิจกรรมระดมทุนเข้ากองทุนตะวันฉายฯ เพื่อการก่อตั้งมูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยได้รับเกียรติอย่างสูงจาก พลตำรวจเอกเภา สารสิน นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์มอบผ้าห่มจำนวน 100 ผืน และได้ร่วมบริจาคเงินสมทบกองทุนตะวันฉายฯ จำนวน 10,000 บาท และกลุ่มเพื่อนนักกอล์ฟผู้ใจบุญนำทีมโดย คุณเจริญ ลาภล้นเหลือหลาย ได้มีจิตศรัทธามอบกองทุนช่วยเหลือครอบครัวเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ที่ยากไร้ จำนวน 50 ครอบครัว รวมถึงผู้มีจิตศรัทธาจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมบริจาค สมทบทุนตั้งต้นสำหรับจดทะเบียนเป็นมูลนิธิได้สำเร็จเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 นั้น และจากการดำเนินกิจกรรมและโครงการสาธารณกุศลต่างๆ ของมูลนิธิตะวันฉายฯ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และสร้างชื่อเสียงให้แก่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ตลอดจนมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จึงมีมติเห็นชอบ อนุมัติห้องปฏิบัติการทางคลินิก เลขที่ 1723 ชั้น 17 อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราช-ชนนี อนุสรณ์ (สว.1) โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็นสำนักงานของศูนย์วิจัยผู้ป่วย ปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการตะวันฉาย (ศูนย์ตะวันฉาย) โดยคณะกรรมการบริหารศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ มีมติตรงกันให้ใช้ห้องปฏิบัติการทางการคลินิกดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นสำนักงานของมูลนิธิตะวันฉายฯ ด้วย และเห็นชอบให้จัดพิธีเปิดป้ายสำนักงานของศูนย์วิจัยฯ และมูลนิธิตะวันฉายฯ อย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553 และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อความสะดวกต่อการติดต่อประสานงาน รวมถึงการให้บริการแก่ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ซึ่งพิธีเปิดป้ายสำนักงานอย่างเป็นทางการนั้น ศูนย์วิจัยฯ และมูลนิธิตะวันฉายฯ ได้รับเกียรติอย่างสูงอีกครั้งจาก พลตำรวจเอกเภา สารสิน นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานที่ปรึกษามูลนิธิตะวันฉายฯ เป็นประธานในพิธี โดยมีคณะที่ปรึกษา คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ แขกผู้มีเกียรติ และครอบครัวผู้ป่วย เข้าร่วมในพิธีเปิด อย่างคับคั่ง นอกจากนี้ พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี รองนางสาวไทยอันดับ 1 ปี พ.ศ. 2552 ทูตวัฒนธรรม ปี 2553 และเยาวชนดีเด่นแห่งชาติปี 2553 ซึ่งเป็นศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อาสาเป็นตัวแทนของมูลนิธิตะวันฉายฯ เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมและโครงการสาธารณกุศลต่างๆ แก่สื่อต่างๆ ที่มาร่วมทำข่าว และอาสาเป็นตัวแทนในการทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือมูลนิธิตะวันฉายฯ ในด้านต่างๆ ต่อไปด้วย