มูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า โดยการดำเนินการของศูนย์การดูแล/วิจัยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการพระราชทานตะวันฉาย (ศูนย์ตะวันฉาย) ได้ดำเนินโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 7” ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ วารี วัลเล่ย์ รีสอร์ต ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 27 ถึงวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2562 ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ตามหนังสือ ที่ ขก.51001/4577 วันที่ 11 มิถุนายน 2562
องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดโครงการอย่างต่อเนื่อง นับเป็นครั้งที่ 7 โดยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1) เพื่อพัฒนาการบริการที่สมบูรณ์แบบในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า ให้มีความสมบูรณ์แบบครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ, การศึกษา, การดำรงชีวิต, สังคม และการเสริมสร้างพลังอำนาจ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อย่างบูรณาการ 2) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพัฒนาทักษะตามคุณลักษณะของเยาวชน 4.0
กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ ทั้งหมด 152 คน ประกอบด้วย ก) ผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ช่วงอายุ 11-27 ปีบริบูรณ์ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียง จำนวน 112 คน ข) ผู้ปกครองผู้ป่วย จำนวน 30 คน ค) เพื่อนผู้ป่วย จำนวน 10 คน
สรุปผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ ดังนี้
- พัฒนาการบริการที่สมบูรณ์แบบในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า จำนวน 112 คน ให้มีความสมบูรณ์แบบครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อย่างบูรณาการได้แก่
- ด้านสุขภาพ ภาพลักษณ์ ผู้ป่วยได้รับการตรวจประเมินภาพลักษณ์ความสวยงามของใบหน้า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจภาพลักษณ์ของตนเองมาก ในบางรายมีความต้องการการตกแต่งให้สวยงามเพิ่มขึ้น มีความเข้าใจ ไม่มีความกลัวเรื่องการดมยาสลบและผ่าตัด มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัด
ส่วนสุขภาพช่องปาก ผู้ป่วยได้รับการประเมินสุขภาพฟัน, การรับความรู้ในการดูแลช่องปากและฟัน ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องการให้นัดจัดฟันร้อยละ 70 ไม่ต้องการร้อยละ 30 โดยต้องติดตามรับการรักษาในคลินิกบูรณาการ (Cleft Clinic) ร้อยละ 6 และ พิมพ์ฟันแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อ ร้อยละ 3
- ด้านการศึกษา ผู้ป่วย เพื่อน และครอบครัวได้เปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องเรียน ณ ออร่าฟาร์ม เป็นการเสริมทักษะอาชีพและทักษะการเรียนรู้
ผู้ป่วยและเพื่อนได้รับความรู้เรื่องเพศศึกษา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การวางแผนครอบครัว และการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ โดยผ่านกิจกรรมการตั้งคำถาม ตั้งประเด็นให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการตอบสถานการณ์สมมุติ ในเรื่องของต้นกับอ้อ แล้วสรุปผลถึงความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ และผลของการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ตอบได้ถูกต้อง
นอกจากนี้ ผู้ปกครองต้องการให้ทางมูลนิธิตะวันฉายฯ ช่วยเรื่องทุนการศึกษาให้กับบุตรหลาน จนถึงระดับปริญญาตรี
- ด้านการดำรงชีวิต ผู้ป่วยและเพื่อนเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น, มีการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ผ่านการเล่นกิจกรรม
- ด้านสังคม ผู้ป่วย เพื่อน และผู้ปกครองได้ฝึกคิดวิเคราะห์เนื้อหาการใช้สื่อออนไลน์อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อ ได้ฝึกทักษะการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นเป็นกลุ่ม
- ด้านการเสริมสร้างพลังอำนาจ ผู้ป่วย เพื่อน และผู้ปกครองได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ป่วยที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยและผู้ปกครองได้รับแรงบันดาลใจ และตระหนักถึงความมีคุณค่าในตนเอง และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ดูแลในเรื่องการให้นม/ สารอาหาร, ด้านการดูแลก่อน-หลังผ่าตัด, การดมยาสลบ, การติดตามประสานงานการรักษา, ผู้ปกครองได้แลกเปลี่ยนการเลี้ยงดูบุตรหลาน ผ่านกิจกรรมต้นไม้แห่งความรักและความห่วงใย
2) ผู้ป่วยได้รับการพัฒนาทักษะตามคุณลักษณะของเยาวชน 4.0 ใน 4 ด้าน ได้แก่
2.1) ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ (Career and Learning Skills)
2.2) ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ (Communications, Information, and Media Literacy)
2.3) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving)
2.4) ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership)
จากการดำเนินโครงการ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีความพึงพอใจในการดำเนินโครงการในระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 88.86 และงบประมาณที่ได้ใช้ไปในการดำเนินโครงการ จำนวน 302,697 บาท โดยการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนนี้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือหนังสือสั่งการของมูลนิธิตะวันฉายฯ
ขอขอบพระคุณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ให้ได้รับการดูแลจากภาครัฐ ผู้ป่วยและครอบครัวมีความเป็นอยู่ด้วยความผาสุก และตรงตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “ขอนแก่นเมืองน่าอยู่”
ขอบคุณ รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการ และแขกผู้ใหญ่ทุกท่านที่ให้เกียรติเข้าร่วมงานพิธีเปิด ขอบคุณคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ ทีมสหสาขาวิชาชีพ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.สุกุลพัฒน์ คุ้มไพศาล สาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยและผู้ปกครอง ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 คณะวิทยากรทุกท่าน รวมถึงผู้ป่วย ผู้ปกครอง และเพื่อนผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้