มูลนิธิตะวันฉายฯ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของทีมสหวิทยาการศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้และด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการดูแลและผ่าตัดรักษาพยาบาลได้ทัดเทียมกับมาตรฐานที่ควรได้รับและครอบคลุมมากที่สุด ทั้งการป้องกัน การเข้าถึง การมุ่งเน้นผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลางการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนโดยมีผลการรักษาที่ดี และเป็นตัวกลางระหว่างทีมสหวิทยาการกับผู้ป่วย/ผู้ปกครอง ระหว่างผู้ป่วยกับครอบครัว กับครอบครัวอื่น ๆ ให้ได้รับคำแนะนำ กำลังใจ ได้ระบายความคับข้องใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลรักษาน้องตะวันฉาย

นอกจากด้านสุขภาพแล้ว มูลนิธิตะวันฉายฯ ยังมุ่งสู่ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้การช่วยเหลือและสนับสนุนในด้านอื่น ๆ ได้แก่ การศึกษา การประกอบอาชีพ เศรษฐานะ ภาวะจิตวิทยา การดำรงชีวิตในสังคม และการเสริมสร้างพลังอำนาจ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ Community Based Rehabilitation Guidelines-2010 ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้จากการทำงาน ดำรงชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและตอบแทนสังคมได้

การดูแล ผ่าตัดรักษา และฟื้นฟูสภาพได้อย่างมีคุณภาพและมีความยั่งยืนนี้ เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถขยายผลบูรณาการเพื่อสนับสนุนการค้นคว้า การวิจัย การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล การสนับสนุนด้านการเรียนการสอน และการพัฒนาการบริการวิชาการ รวมถึงการร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ ด้านสาธารณประโยชน์ ซึ่งส่งผลให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นไปได้โดยสะดวก รวดเร็ว เช่น โครงการบริการวิชาการที่ลงสู่ชุมชนหลากโครงการ ครอบครัวจิตอาสา เครือข่ายการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่เข้มแข็ง เป็นต้น

ความสำเร็จของมูลนิธิตะวันฉายฯ เกิดจากความสามัคคีและความเข้มแข็งของทีมสหวิทยาการและเจ้าหน้าที่ศูนย์ตะวันฉาย ทีมการดูแลผู้ป่วย และความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง ดังเช่น

  • โครงการประชุมเชิงวิชาการ การพัฒนารูปแบบการบริการสมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบ 60 พรรษา และเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และระบบฐานข้อมูลออนไลน์ผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ โดยดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์และโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น
  • โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นแบบองค์รวมและยั่งยืน โดยดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และสนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
  • โครงการเสริมทักษะความรู้ในด้านการเกษตร เพื่อให้ครอบครัวผู้ป่วยสามารถนำความรู้ไปใช้ในครัวเรือนหรือประกอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้เสริม โดยประสานความร่วมมือกับคณะเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ
  • โครงการเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สมบูรณ์แบบ โดยดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคอื่นๆ

 

ความภาคภูมิใจและเหมือนเป็นรางวัลพิเศษของศูนย์ตะวันฉายและมูลนิธิตะวันฉายฯ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยและมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีกันถ้วนหน้า พระองค์ทรงตรัสว่า “ขอชื่นชมการดูแลผู้ป่วยของศูนย์ตะวันฉาย มีการดูแลที่ Comprehensive ดีมาก” เมื่อ วันที่ 23 ธันวาคม 2553 ขณะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทอดพระเนตรนิทรรศการของศูนย์ตะวันฉาย และเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 ทรงเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์อาคารกัลยานิวัฒนานุสรณ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทรงตรัสกับกระผมว่า “อยากให้ขยายการดูแลครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศัลยแพทย์ไทยสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างมีคุณภาพทัดเทียมศัลยแพทย์ต่างประเทศ”

กระผม คณะที่ปรึกษา คณะกรรมการ ทีมสหวิทยาการ ทีมการดูแล และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน สำนึกในพระมหากรุณาเป็นล้นพ้น และพร้อมจะมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อพยายามผลักดันให้การดูแลรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่เป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุดในระดับเขต ภาค และประเทศต่อไป