การดูแลของทีมสหวิทยาการเริ่มตั้งแต่การคลอดของเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ หรือตั้งแต่ทราบในระหว่างการตั้งครรภ์ การเป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ คือ การฟื้นฟูสภาพที่สมบูรณ์ทั้งในมิติด้านรูปร่างความสวยงาม หน้าที่การทำงาน จิตวิทยาสังคม และการเจริญเติบโต ผลลัพธ์ของการรักษาต้องได้รับการประเมินเมื่อกระดูกใบหน้าของผู้ป่วยเจริญเติบโตโดยสมบูรณ์แล้วที่อายุประมาณ 19 ปีขึ้นไป
< เอกสาร แนวทางการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ตามช่วงอายุ โดยทีมสหวิทยาการ / ลิงค์ >
หลังการตรวจโดยละเอียดแล้วจะมีการวางแผนการรักษาอย่างเป็นระบบ ในบางกรณีอาจต้องทำการรักษาความผิดปกติอื่นที่พบร่วมก่อน เช่น ปัญหาทางหัวใจ ปอด หลังจากนั้นบิดามารดาจะได้รับคำแนะนำในการเลี้ยงดูทารก ความรู้เรื่องการให้อาหาร ขณะให้อาหารทารกที่มีเพดานโหว่ ควรจัดท่าให้ศีรษะสูงจะได้ไม่สำลัก ในทารกที่กินนมแม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการเข้าช่วยเหลือเพื่อให้ทารกกินนมแม่ได้สำเร็จ ในทารกที่กินนมผสมจากขวด อาจต้องใช้ขวดนมชนิดพิเศษ จุกนมต้องยาว และนิ่ม รูออกของน้ำนมจะต้องใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย ทารกจะได้ดูดสะดวก และไม่ดูดเอาอากาศเข้าไปมากซึ่งจะทำให้ท้องอืด หลังดูดนมจะต้องอุ้มทารกให้ศีรษะสูงให้เรอ เสร็จแล้วจึงวางนอน เมื่อถึงเวลาจะต้องรับการผ่าตัดแก้ไข จะต้องเตรียมตัวเด็กให้พร้อม แข็งแรง ไม่มีไข้ ไอ น้ำมูก หรือการติดเชื้อ เพื่อจะทำให้การรักษาโดยการผ่าตัดได้ผลดีที่สุด
หลังการผ่าตัดจะต้องดูแลความสะอาดแผลให้ดี ระมัดระวัง ไม่ให้แผลมีการฉีกขาดหรือกระทบกระเทือน จึงจำเป็นต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมักจะต้องผ่าตัดตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น 3 เดือน – 1 ปี ซึ่งเด็กยังดูแลตัวเองไม่ได้ การดูแลเรื่องช่องปากต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เมื่อฟันเริ่มขึ้น ถึงเวลาต้องแปรงฟันทำความสะอาดช่องปาก ควรพบทันตแพทย์เด็กให้ช่วยแนะนำ รวมทั้งทันตแพทย์จัดฟัน ซึ่งอาจต้องใช้เครื่องมือทางทันตกรรมสำหรับเด็กบางราย เพื่อช่วยเตรียมการเจริญเติบโตของฟันและเพดาน เวลาในการผ่าตัดแก้ไขเพดานโหว่สำคัญมาก เนื่องจากต้องแก้ไขก่อนเด็กเริ่มหัดพูด ถ้าทำหลังจากนั้นเด็กจะพูดไม่ชัด แต่ถ้าทำเร็วเกินไปก็อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกใบหน้า
เสร็จจากการผ่าตัดเพดานแล้ว เด็กจะต้องได้รับการสอนวิธีการพูดให้ชัดเจนโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักแก้ไขการพูดและภาษา เพื่อเตรียมการและฝึกอวัยวะต่างๆ ในการพูดให้เหมือนปกติที่สุด โดยจะทำงานร่วมกับศัลยแพทย์และทันตแพทย์ การฝึกพูดจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละพื้นที่ จากการใช้ภาษา วัฒนธรรม และพื้นฐานการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากในการวางแผนการรักษาต่อเนื่อง ปัญหาอื่น เช่น ความพิการทางหู การอักเสบของหูชั้นกลาง ความพิการซ้ำซ้อนอื่นๆ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลร่วมกันโดยทีมสหวิทยาการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สภาพของร่างกายหรือ อวัยวะต่างๆ ผิดปกติของเด็กได้รับการแก้ไขให้เป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด มีสุขภาพกาย และใจที่ดี ไม่มีโรคแทรกซ้อน สามารถใช้อวัยวะในการเคี้ยว การกินอาหาร ให้เป็นปกติมากที่สุด สามารถพูดให้คนทั่วไปเข้าใจได้ชัดเจน ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด มีโอกาสพัฒนาร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ลดปมด้อยของตัวเอง และสามารถกลับสู่สังคมได้อย่างมีความสุข จากปัญหาต่างๆ ของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และแนวทางรักษาผู้ป่วย ที่ต้องมีแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์มากมายหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อจะได้ดูแลผู้ป่วยได้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด