โครงการการเรียนรู้การเกษตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โดย 5 หน่วยงานร่วมมือกัน
ศูนย์ตะวันฉาย ร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และสโมสรนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการ การเรียนรู้การเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัตกรรม อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการการเรียนรู้การเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ด้านการเกษตรยั่งยืน ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพภายในตัวของผู้มีภาวะพิเศษปากแหว่งเพดานโหว่ ให้สามารถสร้างสุนทรียะ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดความเครียด ความวิตกกังวล นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งส่งมอบความรู้สร้างความเข้าใจของสังคมที่มีต่อผู้มีภาวะพิเศษเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน และมีผู้บริหารร่วมงานล้มหลาม ได้แก่ รศ.นพ.พลากร สุรกุลประภา รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศและศูนย์กลางบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ร่วมกล่าวสนับสนุนการจัดโครงการ รศ.ดร.ทพ.พูนศักดิ์ ภิเศก ผู้อำนวยการตะวันฉาย กล่าวรายงานและ ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ประธานมูลนิธิตะวันฉายฯ ร่วมให้สัมภาษณ์การจัดโครงการ และ พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี เลขานุการมูลนิธิตะวันฉายฯ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ
โครงการได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจาก
- มูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า
- ศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะเกษตรศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- บ้านชีวาศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- สโมสรนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์
ในการจัดโครงการครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ จำนวนทั้งสิ้น 30 ครอบครัว
.
ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิตะวันฉายฯ เผยว่า 35 ปี เรามองว่ามูลนิธิตะวันฉาย ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งช่วยฟื้นฟูคนไข้ เป้าหมายคืออยากให้เด็กไทยโตขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในสังคมได้อย่างปกติสุข มูลนิธิ ฯ ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายช่วยในการเดินทาง ทางมูลนิธิ ฯ ได้เปิดระดมทุนเอง และได้รับทุนสนับสนุนจากในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยัง ช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพ การศึกษา ประสานหาที่ทำงาน ในบางรายเป็นผู้ป่วยยากไร้ไม่มีที่อยู่อาศัย ทางมูลนิธิ ฯ ก็สร้างบ้านให้มากกว่า 10 กว่าหลังแล้ว โดยขณะนี้มีผู้ป่วยในการดูแลเกือบ 5,000 คน ในปัจจุบันมูลนิธิตะวันฉาย นับเป็นโมเดลการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า เป็นตัวอย่างระดับภูมิภาคเอเชีย และระดับโลก ที่ต่างประเทศไม่สามารถทำได้ แต่เราทำได้ ยอดเยี่ยม เพราะทีมเราเข้มแข็งมาก เพราะเราดูแลตั้งแต่แรกเกิดจากคณะทันตแพทย์และคณะแพทย์ จนถึงทำงานโดยคณะเกษตรศาสตร์ เสริมสร้างภาวะความเข้มแข็งภายในใจโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ ต่อยอดการหาสถานที่ปรึกษาการทำงานโดยมูลนิธิตะวันฉาย เราดูแลเด็กคนหนึ่งที่แม้ร่างกายผิดปกติ แต่ใจเขาปกติดีให้เติบโตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ มูลนิธิตะวันฉาย เป็นจุดเชื่อมโยงทุกมิติ ทุกคณะ ให้ทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเติบโตสมบูรณ์มากที่สุด
“ เด็กบางคนมีภาวะซ้ำซ้อน ซึ่งแบ่งเป็นซ้ำซ้อนแรกคือ จากแม่ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มีโอกาสที่จะทำให้ลูกที่เกิดใหม่มีภาวะนี้ตามไปด้วย โดยเราทำงานวิจัยต่อเนื่องดูแลเด็กเกิดใหม่ด้วย ติดตามดูกระทั่งตอนเขาสร้างครอบครัวว่าทำอย่างไรที่จะลดปัจจัยเสี่ยงเด็กเกิดใหม่ในแม่ที่เคยเป็นแล้ว ต่อมาปากแหว่งซ้ำซ้อนทางสมอง คือเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ มักมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ตรงนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยทุกมิติ ฉะนั้นต้องมี การรักษาดี ติตามผลเสียงพูดดี เพราะถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ดีใน 3 ขวบปีแรก จะพูดไม่ชัด ไม่กล้าเข้าสังคม เขาจะหลบหลังชั้นทันที มูลนิธิจึงพยายามช่วยดึงศักยภาพเด็กกลุ่มนี้ออกมา ผู้มีภาวะพิเศษ บางทีอยู่โรงเรียน เขาไม่มั่นใจ แต่มูลนิธิช่วยส่งเสริมศักยภาพผ่านกิจกรรมการฝึกพูด การร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น เขาสามารถแสดงออกได้ ดึงศักยภาพเขาออกมา สร้างความมั่นใจ สนับสนุนศิลปะ ดนตรี เราเชื่อว่าประสบการณ์ที่เราส่งต่อเด็ก จะสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาเขาจะมอบสิ่งดีให้สังคมต่อไปไม่มีสิ้นสุด”
.
ขอขอบคุณภาพและเนื้อหาข่าว จาก https://th.kku.ac.th/131220/?mibextid=ncKXMA&fbclid=IwAR18YcJfZCl6gJNgH4N4V4MtxNi6GK0roKbIKyi5fvioDRKCBzmoxoahtRM